ผีเสื้อหางติ่ง สกุลย่อย Achillides ที่พบในประเทศไทย มีกี่ชนิด?
ผีเสื้อหางติ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทความครั้งนี้ เป็น ผีเสื้อกลางวัน ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง Papilionidae วงศ์ย่อย Papilioninae เผ่า Papilionini สกุล Papilio Linnaeus, 1758 สกุลย่อย Achillides Hübner, [1819] มีชื่อสามัญว่า "Peacock"
เนื่องจากลักษณะทางด้านใต้ของปีกคู่หลังบริเวณขอบปีก มีจุดลวดลายเป็นวงสีแดงเรียงตัวตามขอบปีกนี้ (submarginal spots) ดูคล้ายกับนกยูงยามรำแพนหาง อีกทั้งด้านบนของปีกผีเสื้อกลุ่มนี้มักมีสีสันสดใส สีเขียว สีเขียวอมฟ้า หรือสีฟ้า จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญนี้
ในประเทศไทยพบ ผีเสื้อหางติ่ง สกุลย่อยนี้ จำนวน 4 ชนิด คือ
1. ผีเสื้อหางติ่งปารีส
ผีเสื้อหางติ่งปารีส ชื่อวิทยาศาสตร์ Papilio paris Linnaeus, 1758 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Paris Peacock
ผีเสื้อเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะใกล้เคียงกัน พบอาศัยในป่าดิบชื้น พื้นที่ต่ำจนถึงพื้นที่ระดับความสูงประมาณ 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบได้บ่อยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้พบได้ในบางพื้นที่ แต่ไม่พบในพื้นที่ภาคกลางบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน
ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ชื่อวิทยาศาสตร์ Papilio arcturus Westwood, 1842 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Blue Peacock
ผีเสื้อเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะใกล้เคียงกัน พบอาศัยในป่าดิบเขาที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 – 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน
3. ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา
ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Papilio bianor Cramer, 1777 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Common Peacock
ผีเสื้อเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะแตกต่างกัน โดยผีเสื้อเพศผู้มีกลุ่มขนที่สร้างฟีโรโมน (androconial scales) บริเวณปีกคู่หน้า ซึ่งไม่พบในผีเสื้อเพศเมีย แต่ผีเสื้อเพศเมียมีสีสันสดใสกว่าในเพศผู้ สำหรับผีเสื้อชนิดนี้พบอาศัยในป่าดิบชื้น พื้นที่ต่ำจนถึงพื้นที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่
1. ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา Papilio bianor subsp. stockleyi Gabriel, 1936
พบในจังหวัดตาก
2. ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา Papilio bianor subsp. triumphator Fruhstorfer, 1902
พบในจังหวัดน่าน
3. ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา Papilio bianor subsp. pinratanai Racheli & Cotton, 1983
พบในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจันทบุรี
4. ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว
ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Papilio palinurus Fabricius, 1787 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Banded Peacock
ผีเสื้อเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะใกล้เคียงกัน พบอาศัยในป่าดิบชื้น พื้นที่ต่ำจนถึงพื้นที่ระดับความสูงประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ตลอดคาบสมุทรมลายู
วงจรชีวิต
ผีเสื้อหางติ่งชนิดที่กล่าวถึงนี้ มีระยะวงจรชีวิตประมาณปีละ 2 - 3 รุ่น (multivoltine) ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม ตัวหนอนกินใบพืชหลายชนิดในวงศ์ส้ม Rutaceae โดยเฉพาะสกุลกำจัดต้น Zanthoxylum สกุลเครืองูเห่า Toddalia และสกุลเพี้ยกระทิง Melicope ส่วนผีเสื้อตัวเต็มวัยมักพบบินดูดน้ำหวานจากดอกไม้หลายชนิดในป่า
สำหรับในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งในสกุลย่อยนี้ เฉพาะผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียวเพียงชนิดเดียว ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของไทย