เชื้อจุลินทรีย์ (สารชีวภัณฑ์) คืออะไร อันตรายไหม มีอะไรบ้าง?

เชื้อจุลินทรีย์ (สารชีวภัณฑ์) คืออะไร

เชื้อจุลินทรีย์ หมายถึง เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เชื้อจุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ มีหลายชนิดที่ทำให้ศัตรูพืชเป็นโรคตาย 

โดยจะทำลายศัตรูพืชเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม และสามารถทำลายศัตรูพืชได้ครั้งละมาก ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เป็นต้น

ปัจจุบันมีการนำเชื้อจุลินทรีย์เหล่านั้นมาผลิต ขยายเพิ่มปริมาณ เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืช โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ เอกชน และระดับเกษตรกร เชื้อจุลินทรีย์ เป็นที่ยอมรับว่าใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ผลดี และ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ชีวภัณฑ์” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต นั่นเอง

สารชีวภัณฑ์ อันตรายไหม

สารชีวภัณฑ์ ป้องกันควบคุมแมลงศัตรูพืช

ถ้าสารชีวภัณฑ์นั้นเป็นสารสกัดหรือสารพิษที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อระบบในร่างกายมนุษย์ ก็อาจจะส่งผลต่อมนุษย์ได้ แต่ถ้าเป็นชีวภัณฑ์ของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีชีวิตและผ่านการตรวจสอบพิษวิทยาแล้ว ทั้งหมดปลอดภัย ไม่มีผลต่อมนุษย์

รายละเอียดเพิ่มเติม

เชื้อจุลินทรีย์ (สารชีวภัณฑ์) ที่นิยมใช้ควบคุมศัตรูพืช

1. เชื้อราทำลายแมลงศัตรูพืช

เป็นเชื้อราที่ทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นโรคตาย ได้แก่

1.1 เชื้อราบิวเวอเรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana)

ทำลายแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เป็นต้น

1.2 เชื้อราเมตาไรเซียม แอนนิโซพลิอี (Metarhizium anisopliae)

ทำลายแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถทำลายแมลงศัตรูพืชในดินได้ดี เชื้อราทั้งสองชนิด เป็นเชื้อราทำลายแมลง โดยสปอร์เชื้อราสัมผัสกับผนังลำ ตัวแมลง

สปอร์จะงอกแทงผ่านผนังลำ ตัวแมลง เชื้อราจะเจริญเป็นเส้นใยในตัวแมลงและทำลายเนื้อเยื่อจนทำ ให้แมลงแห้งตายใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน

2. เชื้อราทำลายเชื้อโรคพืช

ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา แอสเปอเรลลั่ม (Trichoderma asperellum) จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ (Antagonis fungi) ทำลายเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราที่อยู่ในดิน

ซึ่งเชื้อรานี้ จะเบียดเบียนแย่งอาหารจากเชื้อโรคพืช สร้างเส้นใยแทงเส้นใยเชื้อโรคพืช สร้างสารพิษและน้ำย่อยฆ่าทำลายเชื้อโรคพืช ทำ ให้เชื้อโรคพืชตาย

3. เชื้อแบคทีเรียทำลายแมลงศัตรูพืช และเชื้อโรคพืช

3.1 เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงไจเอ็นซิส (Bacillus thuringiensis

นิยมเรียกสั้นๆ ว่า Bt (บีที) หรือรู้จักและเรียกกันว่า “ยาเชื้อ” ทำลายแมลงศัตรูพืช โดยต้องกินเชื้อเข้าไป เมื่อแมลงศัตรูพืชในระยะหนอนกินเชื้อแบคทีเรียเข้าไป จะทำให้หนอนเป็นอัมพาต หยุดกินอาหาร โลหิตเป็นพิษ ชักกระตุกและตายภายใน 5-7 วัน

3.2 เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส สับทีลิส (Bacillus subtilis)

นิยมเรียกสั้นๆ ว่า Bs (บีเอส) ทำลายเชื้อโรคพืชได้หลายชนิดทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย โดยแย่งอาหารและแย่งพื้นที่ในการเจริญเติบโต สร้างสารปฏิชีวนะและเอนไซม์ ที่ทำลายเชื้อโรคพืชทำให้เชื้อโรคพืชตายได้

4. เชื้อไวรัสทำลายแมลงศัตรูพืช

เชื้อไวรัสเอ็นพีวี (Nucleopolyhedro Virus) หรือ NPV ทำลายแมลงศัตรูพืชระยะหนอน โดยเมื่อแมลงศัตรูพืชในระยะหนอนกินเชื้อไวรัสเอ็นพีวีเข้าไป ไวรัสเอ็นพีวีจะทำลายอวัยวะต่าง ๆ ของหนอน ทำให้หนอนเป็นโรคตายภายใน 5-7 วัน

เชื้อไวรัสเอ็นพีวี มีความเฉพาะเจาะจงสูงกับแมลงอาศัย เช่น เชื้อไวรัสเอ็นพีวีของหนอนกระทู้หอม จะทำ ลายเฉพาะหนอนกระทู้หอม เชื้อไวรัสเอ็นพีวีหนอนกระทู้ผัก ทำลายเฉพาะหนอนกระทู้ผักเท่านั้น

เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมศัตรูพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและควบคุมศัตรูพืชอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม