ทำไมแมลงสาบ จึงยังรอดอยู่ได้ ไม่สูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์?
เราได้เคยเรียนรู้กันแล้วนะครับว่า แมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์หรือแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น กลุ่มตั๊กแตน แมลงกระชอน จิ้งหรีด และแมลงสาบ จะมีวิวัฒนาการต่ำกว่าพวกที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ จากไข่ ตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย เช่น พวกผีเสื้อ ด้วง แมลงวัน ยุง
แมลงสาบ เกิดขึ้นมาก่อนไดโนเสาร์
เคยสงสัยกันบ้างไหมครับ ว่าแมลงสาบ หรือแมลงในกลุ่ม Blattodea ซึ่งเกิดมาในยุค Carboniferous ประมาณ 350 ล้านปี ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ (200 – 250 ล้านปี) แต่ทำไมแมลงสาบถึงไม่สูญพันธุ์เหมือนไดโนเสาร์ วันนี้จึงจะขอมาเล่าสู่กันฟังโดยสังเขปครับ
แมลงสาบเป็นสัตว์เลือดเย็น
อันแรกเลยคือคุณสมบัติที่สำคัญของแมลงสาบคือเป็นสัตว์เลือดเย็น สามารถปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ถึงแม้จะเป็นฤดูหนาวในยุคน้ำแข็งหรือมีภูเขาไฟระเบิด แมลงสาบก็สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ครับ
แมลงสาบมีขนาดเล็ก
ลำดับต่อมาคือขนาดซึ่งแมลงสาบมีขนาดเล็กมีความสามารถในการหลบหลีกหรือหลบซ่อนศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้พื้นที่จะแคบหรือเล็กแค่ใหนแมลงสาบก็สามารถใช้ลำตัวที่ยืดหยุ่นหลบหลีกแทรกผ่านไปได้
แมลงสาบขยายพันธุ์เก่ง
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความสามารถในการขยายพันธุ์ แมลงสาบตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 15 ครั้งต่อปี และในแต่ตัวสามารถวางไข่ได้ 20 – 40 ฟองขึ้นอยู่กับชนิด เพราะฉะนั้นในหนึ่งปีสามารถวางไข่ได้ถึง 500 – 600 ฟองต่อตัวเมียหนึ่งตัว
แมลงสาบกินทุกอย่าง
แล้วทราบไหมครับว่า แมลงสาบมีจำนวนชนิดสูงถึง 4,000 ชนิด ทั้งที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติและในบ้านเรือน ศักยภาพในการกินของแมลงสาบเป็นแบบ omnivorous scavenger คือกินซากสิ่งปฏิกูลของเน่าเปื่อย และกินทุกอย่างทั้งสัตว์และพืช จึงเป็นไปได้ยากที่แมลงชนิดนี้จะอดตายหรือขาดอาหาร
บทสรุปส่งท้าย
เรื่องราวของแมลงสาบยังมีอีกมากมาย ได้มีบทความได้เขียนเกี่ยวกับแมลงสาบว่าสามารถอยู่รอดหากมีดาวหางหรืออุกกาบาตวิ่งชนโลกหรือเกิดสงครามนิวเคลียร์ ลองหาอ่านดูนะครับ และยังไม่รายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่างเกี่ยวกับความสามารถของแมลงสาบทั้งด้านสรีรววิทยาและการดำรงชีวิต แต่วันนี้คุยกันเล็กน้อยพอประมาณครับ