✓ต้นไม้: อโลคาเซีย Alocasia ต้นแก้วหน้าม้า แก้วสารพัดนึก?

ต้นบอนในสกุล อโลคาเซีย Alocasia แก้วสารพัดนึก, แก้วหน้ามา ไม้ใบมงคล ไม้ใบประดับ ปลูกในบ้าน กลุ่ม Aroid วงศ์ Araceae มีหลายชนิด สายพันธุ์ต่างๆ วิธีปลูกเลี้ยง ดูแล การขยายพันธุ์ ...

อโลคาเซีย Alocasia

ต้นบอน 'แก้วหน้าม้า' หรือ 'แก้วสารพัดนึก' เป็นชื่อที่คนไทยเราใช้เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งใน สกุล Alocasia บางคนก็เรียกทับศัพท์ 

อโลคาเซีย Alocasia แก้วสารพัดนึก,แก้วหน้าม้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า "อโลคาเซีย" พันธุ์ไม้ในสกุลนี้ ส่วนใหญ่ จัดเป็นไม้ใบประดับ ไม้ใบมงคล ใช้ปลูกเป็นไม้กระถางในบ้าน หรือจัดสวนในร่ม

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะต้น ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia มีใบเขียวสด ประดับด้วยเส้นใบลวดลายเส้นสีต่าง ๆ บางชนิดก็มีใบแข็งนูน ขอบใบหยักย่น บางชนิดมีท้องใบม่วง-ม่วงแดง เขียว-เทา บางชนิดมีใบเขียวธรรมดา แต่มีก้านแข็ง มีลวดลายสีน้ำตาลอมดำ น่าดูมาก นอกจากนี้ ในช่วงออกดอกและติดเมล็ด ยังมีสีสรรฉูดฉาด สวยงามดีอีกด้วย

ที่เราเรียกพันธุ์ไม้จำพวก Alocasia นี้ว่า ต้นแก้วหน้าม้า ก็เพราะรูปทรงของใบ เมื่อมองทางด้านหน้าตรง จะมีลักษณะรูปสามเหลี่ยมยาว มีหูสองข้างคล้ายหน้าม้านั่นเอง

ในฟลอริด้า และฮาวายนิยมปลูกขายเป็นไม้กระถางกันมาก สำหรับในบ้านเรานั้นยังมีผู้ปลูกเลี้ยงกันน้อย และบางชนิดราคาก็ยังคงแพงอยู่ (ดูเพิ่มเติม.. บอนในสกุลอโลคาเซีย Alocasia ของไทยมีกี่ชนิด?)

ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาเรียกว่า "ต้นแก้วสารพัดนึก" กันมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นไม้มงคล ไม้ประดับที่กำลังได้รับความนิยมมาก ซึ่งในที่นี่ เราจึงขอเรียกตามกระแสว่า ต้นแก้วสารพัดนึก หรือ Alocasia (อโลคาเซีย)

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ยังปลูกเลี้ยงกันไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ก็เนื่องจาก ผู้ปลูกเลี้ยงไม่ทราบ วิธีปลูกและการขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง ตลอดจนเครื่องปลูกก็ไม่เหมาะสม ทำให้ต้นพันธุ์ที่มีอยู่ล้มหายตายจากไปเสียมาก บางรายก็เหมาเอาว่าต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia เป็นไม้ประดับที่เลี้ยงยาก ไม่น่าเล่นไปเลยก็มี

ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia คืออะไร?

ว่ากันตามจริงแล้วต้นไม้ในสกุล อโลคาเซีย (Alocasia) ก็เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Araceae เช่นเดียวกับ บอนสี (Caladium), เผือก (Colocasia), หน้าวัว (Anthaurium) พลูฉีก หรือ พลูด่าง (Monstera or Philodendron) ชนิดต่างๆ นั่นเอง ทั้งนี้หากพิจารณารูปร่างโดยทั่วไปของช่อดอก

พรรณไม้ประดับในสกุล ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia นี้มีประมาณ 40 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ตามป่าดิบเขตร้อน จาก อินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี ไปถึงฟิลิปปินส์ แต่ที่มีปลูกเลี้ยงกันขึ้นหน้าขึ้นตาจริง ๆ ก็คงมีอยู่ราวสิบกว่าชนิดเท่านั้น ไม่นับรวมถึงลูกผสมข้ามระหว่างชนิดหนึ่ง กับอีกชนิดหนึ่ง

วิธีการปลูกเลี้ยง ดูแล Alocasia อย่างไร?

หากจะเทียบกับไม้อื่นในวงศ์ Araceae แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม้จำพวกต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ที่กล่าวมานี้ เป็นไม้ประดับที่เลี้ยงง่าย ไม่ใคร่จะมีปัญหามากมายนัก เช่นเดียวกับ พลูฉีก จำพวก ฟิโลเดนดรอน (Philodendron) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วไป

ซึ่งหากจะเทียบกับ ฟิโลเดนดรอน ส่วนมากแล้ว มักจะยึดปล้อง หรือก้านใบห่าง ทำให้ต้องตัดปลูกและทำหลักให้ไต่เลื้อยขึ้นไป ซึ่งยุ่งยากมากกว่า

ผู้เขียนได้พบไม้จำพวกต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia หลายชนิด ในสภาพป่าตามธรรมชาติทางภาคใต้ ของไทย มาเลเซีย เกาะชวา และอินโดนีเซีย พบว่าต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia แบ่งได้สองกลุ่มดังนี้

  • Alocasia ชนิดที่มีลำต้นและใบใหญ่ เช่น Alocasia macrorhiza, Alocasia indica และ Alocasia longiloba ชอบขึ้นอยู่ตามพื้นดินในป่าทึบใกล้ลำห้วย, น้ำตก ที่มีความชื้นสูง อินทรีย์วัตถุในดิน ได้แก่ ใบไม้ผุ ผสมกับดินธรรมชาติในป่า ซึ่งอาจจะเป็นดินเหนียว ดินตะกอน หรือทรายหยาบก็ได้
  • Alocasia ชนิดที่ลำต้นและใบเล็ก เช่น Alocasia lowii, Alocasia veitchii, Alocasia watsoniana จำพวกนี้มักพบตามภูเขาหิน ซึ่งอาจเป็นหินปูนหรือแกรไนต์ โดยขึ้นอยู่ตามซอกหินที่มีใบไม้ผุๆ หล่นร่วงไปทับถมกันอยู่

จากการสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนจึงอาจอนุมานได้ว่า วัสดุปลูก หรือ ดินปลูกไม้จำพวกต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia นั้น ควรเป็นดินที่มีส่วนผสมของใบไม้ผุ, ดินตะกอนและอิฐมอญทุบ เป็นหลักดังนี้

  1. ดินตะกอน 1 ส่วน
  2. อิฐมอญทุบ (ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย) 2 ส่วน
  3. ใบก้ามปู หรือใบทองหลาง 2 ส่วน
  4. ปุ๋ยคอกเก่า ๆ 1 ส่วน

สำหรับปุ๋ยคอกที่ควรใช้ปลูกต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากปลา (soluble fish emulsion) เจือจาง ละลายน้ำรดให้ทุก ๆ สองสัปดาห์ ต้นจะเจริญเติบโตแข็งแรงดีมาก โดยจะเห็นได้ว่ามีรากสีขาว พันกันเต็มกระถาง ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนกระถางบ่อย ๆ

ปัจจัยในเรื่องของแสง และความชื้นนั้น นับว่ามีความสำคัญแก่การเจริญเติบโต ของต้นต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ทั้งนี้จากการสังเกตของผู้เขียนทั้งในสภาพธรรมชาติ และในสภาพการปลูกเลี้ยงที่กรุงเทพฯ พบว่า ความชื้นในอากาศควรจะให้อยู่ในระดับสูง 70 เปอร์เซนต์ขึ้นไป โดยให้สัมพันธ์กับปริมาณแสงซึ่งต้องบังคับให้อยู่ในช่วง 20-30 เปอร์เซนต์

ในเรื่องศัตรูที่รบกวนทำลายต้นต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia นั้นไม่ค่อยมีมากนัก แต่เท่าที่พบก็มักจะได้แก่ โรครากเน่า ซึ่งเกิดจากการที่เครื่องปลูกในกระถางแฉะเกินไป ทำให้รากเน่าเสียหาย และมีเชื้อแบคทีเรียเข้าซ้ำเติม ทำให้ใบเหี่ยวแห้ง ต้นหยุดการเจริญเติบโต และอาจจะเน่าตายไปทั้งกระถางก็ได้

นอกจากนี้ยังมีโรครากปม ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยในดิน ซึ่งทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ใบเหลือง แคระแกร็น

ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดก็คือการรื้อกระถาง ตัดราก Alocasia ออกให้หมด ตัดใบทิ้งให้เหลือใบเดียว ล้างต้นให้สะอาด นำไปแช่ในสารละลาย พาราไธออน (1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1.5 ลิตร) เป็นเวลา 1 นาที ผึ่งให้แห้งในร่ม นำไปปลูกในเครื่องปลูกใหม่ที่สะอาด

วางกระถางในที่ร่มจัดเป็นเวลา 2-3 วัน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มแสงให้พร้อมกับการพ่นน้ำให้เป็นละออง เพิ่มความชื้น และเริ่มรดปุ๋ยอินทรีย์เจือจางให้จนครบสองสัปดาห์จึงเสร็จสิ้นขบวนการ (กระถางปลูกที่ใช้แล้ว และมีโรคปรากฏ ควรนำไปล้าง ด้วยน้ำยา Clorox 1 ส่วนต่อน้ำ 25 ส่วน)

จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า Alocasia ported ซึ่ง ปลูกเลี้ยงไว้ที่บ้าน มักจะมีไรแดงเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ผิวใบ ทำให้ใบเหลืองซีด ต้นแคระแกร็นไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งในกรณีนี้การใช้พาราไธออน หรือมาลาไธออน พ่นให้ใต้ใบ สามารถกำจัดไรแดงได้ทันที

การขยายพันธุ์ Alocasia

ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia เป็นไม้ประดับที่ขยายพันธุ์ง่าย เช่นเดียวกับฟิโลเดนดรอน และบอน เหมือนกัน ต้นที่เจริญเติบโตดีมักจะแทงหัว (offsets) ที่โคนต้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราอาจจะค่อย ๆ ขุดแยกออกมาปลูกใหม่ได้ทันทีที่หัวมีขนาดใหญ่ และใบที่หุ้มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้

เราควรตัดหัวพวกนี้ออกนำมาลอกกาบใบแก่ ๆ ออกให้หมด จุ่มในสารเคมีป้องกันเชื้อรา แล้วชำในวัสดุชำที่ประกอบด้วยทรายหยาบ หรืออิฐมอญทุบละเอียด คลุมผิวด้วยปุยมะพร้าวเพียงบาง ๆ ต้นแก่ของต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia นั้น

เราอาจจะตัดออกเป็นชิ้น ๆ ได้ด้วยมีดคม ๆ แต่ละแว่นควรมีตาอยู่ 1-2 ตา ส่วนยอดนั้นควรเหลือลำต้นไว้ให้ห่างมาจากใบแข็งแรง ใบสุดท้ายประมาณ 1 นิ้ว ชุบสารป้องกันเชื้อรา หรืออาจใช้ปูนแดง ทาให้ทั่วแผล ทิ้งให้แห้ง และชำในวัสดุชำที่กล่าวมาแล้ว

การผลิตเมล็ด Alocasia

การเพาะเมล็ด Alocasia เป็นวิธีค่อนข้างยุ่งยาก และมักไม่ค่อยทำกัน ยกเว้นแต่ในกรณีของการผสมข้ามชนิด เพื่อให้ได้ลูกผสมแปลก ๆ ในยุโรปทำกันมาก และในอเมริกา ปัจจุบันก็เริ่มมีผู้กระทำการทดลองได้ลูกผสมกันไว้มาก ช่อดอกของต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia จริง ๆ นั้นเรียกว่า spike ถูกห่อหุ้มด้วยกาบสีเขียว ๆ ที่เรียกว่า spathe

ในส่วนบนของเดือยที่โผล่ขึ้นมานี้ จะเป็นที่ตั้งของดอกเพศผู้ ส่วนล่างที่ซ่อนอยู่ในกาบซึ่งมีรูปเป็นกระเปาะกลม ๆ นั้นเป็นส่วนของดอกเพศเมีย บริเวณที่คั่นกลางระหว่างกลุ่มดอกทั้ง 2 เพศนี้เรียกว่า บริเวณที่เป็นหมัน

ในวันแรกที่ออกดอก ส่วน spathe จะอ้าออกเต็มที่ และเกสรตัวเมียจะพร้อมที่จะรับการผสม โดยมีของเหลวเหนียว ๆ เยิ้มออกมา ในวันที่สอง ส่วนของ spathe จะกลับปิด และจะเปิดอ้าเพียงเล็กน้อยอีกครั้งในวันที่สาม ซึ่งในวันที่สามนี้เอง anther จะปล่อยละอองเรณูออกมา แต่ก็ไม่ผสมเนื่องจากดอกตัวเมียจะถูกห่อหุ้มอยู่ภายใน

ดังนั้นถ้าเราใช้พู่กันแตะเอาละอองเรณู และใช้นิ้วเผยอ spathe ที่หุ้มดอกเพศเมียเพียงเล็กน้อย สอดปลายพู่กันที่มีเรณูติดอยู่เข้าไปแตะให้ทั่ว ก็จะผสมเกสรได้ตามต้องการ เวลาที่ผสมเกสร Alocasia ได้ดีที่สุดคือ ในตอนเช้า และเราอาจเก็บละอองเรณูเอาไว้ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง

ถ้าเราผสมติดเป็นผลสำเร็จ ช่อดอกจะยังคงตั้งตรงอยู่ แต่ถ้าผสมไม่ติดช่อดอกจะงอโค้งเที่ยวไปภายในไม่กี่วัน และกว่าเมล็ดจะแก่ก็กินเวลา 4-6 เดือน ซึ่งในระยะเดือนท้าย ๆ นั้น spathe จะเหี่ยวแห้งหลุดไป เผยให้เห็นผล (berries) สีส้มเป็นส่วนใหญ่

การเพาะเมล็ดต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ต้องล้างเมือกให้หมดคลุกยากันรา และเพาะทันที ประมาณ 2 อาทิตย์ เมล็ดก็จะงอกให้เห็น

อโลคาเซีย Alocasia แก้วสารพัดนึก,แก้วหน้าม้า

ต้นแก้วสารพัดนึก Alocasia ชนิด/พันธุ์ต่างๆ 

1. Alocasia cucullata Leur Schott - มีชื่อเรียกว่า "ว่านนางกวัก" จัดเป็นไม้เก่าแก่ที่นิยมปลูกกันเป็นว่านมหาโชค ทั้งชาวไทยและชาวจีน มีใบกลมรีรูปหัวใจ สีเขียวสดเป็นมัน ก้านใบยาว ทรงพุ่มแน่น ต้นสูงประมาณ 1 ฟุตขึ้นไป ถิ่นกำเนิด อินเดีย พม่า จีนใต้ มีปลูกในไทย และมาเลเซียมานานแล้ว

2. Alocasia cuprea Koch ต้นสูงประมาณ 2 ฟุต สีบรอนซ์คล้ายโลหะ ลักษณะเป็นร่องโค้งตามเส้นใบ ซึ่งมีสีม่วงอมดำ ใบแข็งหนา จะ compact มากเมื่อเป็น Fhybrids ใต้ใบสีม่วงพบ ที่เกาะบอร์เนียว ก้านใบ : 1 ฟุต

3. Alocasia indica var metallica Schott (กระดาษดำ) - ใบใหญ่ สีม่วงอมไทาเงิน ไม่ทนโรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย สูง 5 ฟุต ก้านใบสีม่วง ตัวใบขนาด 17x6 นิ้ว ถิ่นกำเนิด ชวา

4. Alocasia longiloba Mig ใบมีสีเขียวตามเส้นใบ ส่วนตัวใบมีสีเทาเงิน เจริญเติบโตดี พบที่เกาะชวา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ภาคใต้ของไทย ต้นสูงถึง 3 ฟุต 1

5. Alocasia indica (Roxb) Schott ก้านใบสีเขียว ยาวประมาณ 2 ฟุต ตัวใบขนาด 12x6 นิ้ว พบที่ อินเดีย -ไมโครนีเซีย

6. Alocasia lowii Hook ต้นสูง 2 ฟุต ใบมีสีเขียวอมดำ ประดับด้วยเส้นใบสีเงิน ใต้ใบมีสีม่วง ก้านใบสีชมพู นับเป็นชนิดที่สวยงามมากที่สุด พบที่เกาะบอร์เนียว

7. Alocasia macrorhiza Schott (กระดาษ) มีขนาดใหญ่สูงถึง 4 ฟุต ใบใหญ่หยิกเป็นคลื่น ก้านใบมีสีเขียวนวล นิยมปลูกตามลานสนามหน้าบ้าน พบทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีชนิด Var. variegata Hort กระดาษด้างลายขาว ปลูกกันทั่วไป เป็นไม้ด่างที่สวยงามต้นหนึ่ง ที่ผู้คนละเลยมองข้ามไปจนไม่แพร่หลายในปัจจุบัน

8. Alocasia (Schizocasia) portei Becc มีขนาดต้นใหญ่ ถึง 8 ฟุต ใบอาจยาวถึง 4 ฟุตก็มี ใบสีเขียวเข้มขอบใบหยัก ลำต้นสูงเห็นเด่นชัด เหนือดิน แตกหน่อที่โคน ในอินโดนีเซีย (เกาะชวา) มีมาก ผู้เขียนเก็บพันธุ์มาปลูกในกรุงเทพฯ ด้วย

  • Alocasia putzeii N.E.Br. ใบสีเขียวคล้ำ เส้นใบขาว พบมากที่เกาะสุมาตรา ต้นสูง 3 ฟุต
  • Alocasia villeneuvii Lind and Rodig. ตัวใบสีเขียวอ่อน ประกอบด้วยรอยสีจางกว่า และมีจุดแดง ก้านใบมีจุดสีน้ำตาล ยาว 12-20 นิ้ว
  • Alocasia sandiriana Bull ต้นสูง 2 ฟุตครึ่ง ใบยาวขอบหยัก ย่นเป็นริ้ว คล้ายกริช สีเขียวเข้มอมเทา ขอบใบและเส้นใบสีขาว พบในประเทศฟิลิปปินส์ จัดเป็นแม่ไม้ที่ใช้ผสมดีต้นหนึ่ง
  • Alocasia thibautiana Mast เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ ใบยาว 2 ฟุต กว้าง สีเขียวมะกอก มีเส้นใบสีเงินปนเทา สีม่วงใต้ใบ พบที่เกาะบอร์เนียว
  • Alocasia korthalsii Schott ใบคล้าย Alocasia sandiriana ก้านใบยาว 12 นิ้ว ขอบใบหยัก ก้านใบสีเขียว พบที่เกาะบอร์เนียว
  • Alocasia veitchii Schott ใบกลมรี ค่อนข้างแคบ สีเขียวเข้ม เส้นใบและเส้นร่างแหสีเทาเงินปรากฏทั่วไป พบที่เกาะชวา, อินโดนีเซีย
  • Alocasia odora (Roxb) C. Koch ก้านใบเขียว ยาว 3 ฟุต ตัวใบขนาด 3 x 2.5 ฟุต พบที่ฟิลิปปินส์และเอเซียตอนใต้
  • Alocasia watsoniana Hort เป็นชนิดที่มีความงามมากที่สุด ใบกว้างกลมรี ปลายแหลม ใบหยักย่น เป็นคลื่น กว้าง 2.5 ฟุต ยาว 3.5 ฟุต ตัวใบสีเขียวปนดำ ประดับด้วยเส้นสีเทา ดูคล้ายทำจากโลหะ ใต้ใบสีม่วงเข้ม พนที่เกาะสุมาตรา, อินโดนีเซีย
  • Alocasia wavriniana Mast ใบแคบตั้งตรง ใบคอดสีเขียวมะกอก ใต้ใบม่วง พบที่เกาะซิลิเบส
  • Alocasia regina (N.E.Br.) ตัวใบสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบแดงเลือดหมู ตัวใบขนาด 11 x 8.5 นิ้ว ก้านใบยาว 10 นิ้ว พบที่เกาะบอร์เนียว
  • Alocasia zebrina (Koch + Veitch) ใบสีเขียวมะกอก ทรงสามเหลี่ยม ก้านใบมีลายสีน้ำตาลเข้มสลับขาว ยาว 14-18 นิ้ว มีผู้สั่งเข้ามาเลี้ยงเมื่อ 2520 นี่เอง แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ต้องการที่ร่มและความชื้นสูงจัด ถิ่นกำเนิดฟิลิปปินส์

ลูกผสม Alocasia (เกิดในฟลอริด้า)

  • Alocasia x mazonica (Alocasia lowii var Grandis x Alocasia sanderiana) ใบสีเขียวเข้มเกือบดำ ตัดกับเส้นใบขาว
  • Alocasia x Chantrieri (Alocasia cuprea x Alocasia sanderiana)
  • Alocasia x Chelzonii (Alocasia cuprea x Alocasia longiloba)
  • Alocasia x Sedenii (Alocasia lowii x Alocasia cuprea)
  • Alocasia x Mortefontainensis (Alocasia lowii x Alocasia sanderiana)
  • Alocasia lowii grandis x Alocasia Veitchii 
  • Alocasia sanderiana x Alocasia longiloba

อ้างอิง: คลังความรู้ดิจิทัล มก. โดย ม.ล. จารุพันธ์ ทองแถม อาจารย์ในภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ความแตกต่าง ราชพฤกษ์, กาฬพฤกษ์, กัลปพฤกษ์, ชัยพฤกษ์ มีกี่ชนิด ในประเทศไทย?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

✓ต้นไม้: โมกนเรศวร โมกของไทย ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก?

การแบ่งประเภท(ตัวย่อ) สูตรผสม สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช รูปแบบของกลุ่มสารผสม?

ต้นกันภัยมหิดล ประวัติความเป็นมา ลักษณะ, วิธีปลูก การใช้ประโยชน์ การขยายพันธุ์?

✓ต้นไม้: 'พีพวนน้อย' (หมากผีผ่วน) ผลไม้ป่าไทย วงศ์กระดังงา?

ต้นอินทรชิต, เสลา(สะ-เหลา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร วิธีปลูก ราคา?