ต้นพุดรักนา (คำมอกหลวงพม่า) ดอกพุดป่าพื้นเมืองไทย มีลักษณะแตกต่าง พุดภูเก็ต?
"พุดรักนา" เป็นพรรณไม้ดอกหอมของไทย ในสกุลดอกพุด Gardenia ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ "พุดรักนา"ของไทย กับ "พุดน้ำบุศย์" ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อเดียวกัน เนื่องจากมีรูปทรงดอกที่คล้ายกัน ทั้ง ๆ ที่มีขนาดทรงพุ่ม ลักษณะใบ ดอกและผลแตกต่างกันมาก
พุดรักนา
พุดรักนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia carinata Wall. ex Roxb. วงศ์พุด Rubiaceae เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย มีชื่ออื่น เป็นชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ตะบือโก บาแยมาเดาะ พุดน้ำบุศย์ ระนอ ระไน รัตนา มีชื่อภาษาอังฤกษว่า Golden Gardenia, Kedah Gardenia และมีบางคนนำมาขายในตลาดต้นไม้ในชื่อการค้าว่า "คำมอกหลวงพม่า"
พุดรักนา เป็นไม้ป่าพื้นเมืองของไทยที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 50-800 ม. พบได้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปจนถึงภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างมาเลเซีย
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางภาคใต้ เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของคนในท้องถิ่นและชุมชน ที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร หรือท้องทะเลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยเฉพาะธุรกิจรีสอร์ตและแหล่งพักผ่อนชายทะเล ที่ล้วนแล้วแต่อาศัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เดินทางมาสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งผืนแผ่นดินไทย
ธุรกิจรีสอร์ตที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่มีการนำพรรณไม้ในธรรมชาติมาปลูกเป็นไม้ประดับกันมากขึ้น หนึ่งในพรรณไม้ที่เจ้าของธุรกิจนี้นิยมก็คือ "พุดรักนา"
พุดรักนา เป็นพรรณไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่และมีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะแก่การนำไปปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่ม และให้ร่มเงา
ภาพ : Flmingo Tree
เมื่อเริ่มแย้มมีสีขาวนวล ต่อมาเปลี่ยนเป็นเหลืองนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเข้มก่อนโรย และส่งกลิ่นหอมแรง เมื่อใกล้โรย เนื้อไม้ของรักนาสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ทำฟืนและเผาถ่านได้
ความแตกต่าง พุดรักนา กับ พุดภูเก็ต
พุดรักนานี้ มีอีกชื่อว่า พุดป่า ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ พุดภูเก็ต แต่เมื่อนำดอกพุดรักนามาเปรียบเทียบกับดอกพุดภูเก็ตแล้ว ดอกพุดรักนาจะมีดอกขนาดใหญ่กว่า และดอกของพุดรักนาก็มีสีเหลืองส้มเด่นชัดกว่าพุดภูเก็ต แต่พุดภูเก็ตจะออกดอกดกกว่ามาก
ไม้ดอกหอมทั้งสองชนิด เป็นไม้ที่เหมาะแก่การปลูกเป็นไม้ประดับริมทะเล เพราะมีความทนทานต่อความแห้งแล้งเหมือนกัน แต่พุดรักนานี้จะไม่ทนทานต่อความแห้งแล้งและไอเกลือจากทะเลได้ดีเท่าพุดภูเก็ต
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพุดรักนา
ต้นพุดรักนา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5-8 ม. แตกกิ่งจำนวนมาก มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ทรงพุ่มกลมโปร่ง มีใบอยู่เฉพาะช่วงปลายยอด ติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ผลัดใบเล็กน้อย ใบเดี่ยว ใบรูปหอก หรือรูปไข่กลับ ยาว 15-30 ซม. ผิวใบมีขนมาก ลักษณะสากคาย เส้นแขนงใบเห็นเด่นชัด
ดอกพุดรักนา ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว โคนกลีบดอกเป็นหลอดยาว 5-7 ซม. ดอกออกที่ปลายยอด มีกลีบดอก 6-8 กลีบ ขอบกลีบหยักเว้าคล้ายหัวลูกศร
เมื่อดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 ซม. เมื่อเริ่มแย้มมีสีขาวนวลต่อมาเปลี่ยนเป็นเหลืองนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเข้มก่อนโรย ส่งกลิ่นหอมแรงเมื่อใกล้โรย ออกดอกพร้อมกันเต็มต้นในช่วงเดือนมีนาคม
ผลพุดรักนา มีลักษณะรูปทรงกลมรี ยาว 3-4 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง ผลแก่สีดำ มีสันนูนตามยาว 5 เส้น ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ มีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะเมล็ด สีขาวหม่น กลมแบน ขนาด 4-6 มม.
การขยายพันธุ์พุดรักนา สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เสียบยอด ทาบกิ่ง
อ้างอิง: ข้อมูลและภาพ จาก หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552