เปรียบเทียบความแตกต่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี มีจุดแตกต่างกัน ยังไงบ้าง?
ความเหมือนที่แตกต่าง ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา สกุลมหาพรหม ระหว่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี แตกต่างกันอย่างไร? ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะดอก แตกต่างกัน ...
ต้นมหาพรหม และ ต้นมหาพรหมราชินี
ความสับสนระหว่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี สองพี่น้องฝาแฝดในสกุลเดียวกัน ที่มีรูปร่างลักษณะหน้าตาของดอกและใบคล้ายกันมาก แต่จริง ๆ แล้ว เป็นคนละชนิดกัน
วันนี้จึงขอนำข้อมูลความแตกต่างกันระหว่างมหาพรหมทั้งสองชนิด ว่าแต่ละชนิดมีจุดจำแนกความแตกต่างกัน อยู่ที่ตรงไหน และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ความเหมือนที่แตกต่าง
มหาพรหม และ มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่อยู่ในวงศ์กระดังงา (Family Annonaceae) และอยู่ในสกุลมหาพรหม (Genus Mitrephora) เดียวกัน
มหาพรหมทั้งสองจึงมีลักษณะทางสัณฐานวิทยา (morphology) หรือรูปทรงโดยรวมคล้ายคลึงกัน อาทิเช่น มีขนาดของลำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-6 ม.
มีใบเรียงสองข้างในระนาบเดียวกัน (distichous) ดอกสีขาว ดอกมีกลิ่นหอม ดอกมีรูปทรงกระเช้า หรือ หมวก (mitreform) คือ มีกลีบดอก 6 กลีบเรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบสีขาวกางแผ่ออก ชั้นในมี 3 กลีบ ขอบกลีบประกบติดกันเหมือนกระเช้า และมีผลเป็นแบบผลกลุ่มที่มีผลย่อยแต่ละผลแยกจากกัน
แต่ในท่ามกลางความเหมือนนั้น หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ทั้งมหาพรหมและมหาพรหมราชินี มีข้อแตกต่างกัน จนแยกออกเป็นคนละชนิด
ความแตกต่าง
นอกจากมีถิ่นกําเนิดที่มีสภาพนิเวศวิทยาแตกต่างกันแล้ว ยังมีข้อสังเกตที่สามารถใช้แยกออกจากกันได้(ปิยะ, 2549) คือ
มหาพรหม
photo by Anan Pi.
- มีเปลือกลําต้นหนาสีดํา
- ใบหนานุ่ม สีเขียวอ่อน มีขนหนานุ่ม ปลายใบแหลม
- ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม.
- กลีบดอกชั้นในสีเลือดนก
- ผลย่อยลักษณะกลม ขนาด 1-1.5 ซม.
มหาพรหม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora winitii Craib เป็นพรรณไม้ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้นี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2464 จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์
มีการตีพิมพ์รายงานในปี พ.ศ. 2465 ระบุว่าเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ (Weerasooriya, 2001) ในปัจจุบันพบว่ามีการกระจายพันธุ์ อยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี และ จ.กาญจนบุรี
มหาพรหมราชินี
- มีเปลือกลําต้นหนาสีน้ำตาลปนเทา
- ใบบางเหนียวเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียวแหลม
- ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 ซม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดอกมหาพรหม แต่มีกลิ่นหอมอ่อนกว่า
- กลีบดอกชั้นในสีม่วง
- ผลย่อยรูปทรงกระบอกยาว 5-5.5 ซม.
มหาพรหมราชินี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin& R.M.K.Saunders เป็นพรรณไม้ที่มีการเก็บตัวอย่างจําแนกชื่อและตั้งชื่อร่วมกัน 3 คน
โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ Dr. Aruna Weerasooriya และ Dr. R. M. K.Saunders นักพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง (Weerasooriya et al., 2006)
ได้ประกาศการค้นพบ ในปี พ.ศ.2547 โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ว่า "มหาพรหมราชินี" นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ที่มีถิ่นกําเนิดอยู่เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน (ปิยะ, 2547)
มหาพรหมเทวี
มหาพรหมเทวี เกิดจากการกลายพันธุ์จากการเพาะเมล็ดของ มหาพรหมราชินี จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Mitrephora sirikitiae 'Thewi'
ความแตกต่าง จาก มหาพรหมราชินี
- ต้นมหาพรหมเทวี สามารถออกดอกตลอดทั้งปี แต่ต้นมหาพรหมราชินีจะออกดอกเพียงปีละครั้ง
- ดอกมหาพรหมเทวี มีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอมแรงกว่าอย่างชัดเจน
- กลีบดอกตรงกลางของดอกมหาพรหมเทวี จะเป็นสีแดงหรือสีม่วงอ่อนอมชมพู แต่ดอกมหาพรหมราชินีจะเป็นสีม่วง
นอกนั้น ส่วนอื่นๆ ก็เหมือนกัน คือ ใบของมหาพรหมเทวี กับใบของมหาพรหมราชินี จะไม่มีขน ใบเรียบเป็นมันเช่นเดียวกัน ทำให้เวลามีดอกคล้ายคลึงกันมาก
วิธีปลูก
สําหรับการปลูกเป็นไม้ประดับที่สวยงาม ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้ง ให้มีระยะปลูกห่างจากต้นข้างเคียงอย่างน้อย 2 ม. สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบที่มีอากาศร้อนเหมือนกัน
แม้ว่ามหาพรหมมีถิ่นกําเนิดเดิมจากพื้นที่เขตร้อนในระดับต่ำ และมหาพรหมราชินีมีถิ่นกำเนิดเดิมจากพื้นที่เขตหนาวในระดับสูงก็ตาม ทั้งสองชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี
ต้นมหาพรหมมีทรงพุ่มโปร่งเมื่อได้รับแสงแดดทั่วทั้งทรงพุ่ม ถ้าดินปลูกร่วนระบายน้ำดี จะออกได้เต็มต้นอย่างสวยงามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม และจะมีช่วงออกดอกได้ยาวนานมากกว่าในถิ่นกําเนิดเดิมที่ออกดอกบานเฉพาะในเดือนพฤษภาคม
เนื่องจาก ต้นมหาพรหม กับ ต้นมหาพรหมราชินี พรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ มีดอกดกขนาดใหญ่สวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมีการขยายพันธุ์กันเป็นจํานวนมาก โดยการทาบกิ่งที่ใช้ต้นมะป่วนเป็นต้นตอ แล้วนําไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนกล่าวได้ว่า พรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้พ้นจากสภาพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์แล้ว